อาณาเขตและพื้นที่
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่สามัคคี มีพื้นที่ทั้งหมด 56 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 35,000 ไร่ อยู่ห่างจากจังหวัดลพบุรี 104 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากตัวอำเภอชัยบาดาล 11 กิโลเมตร
ทิศเหนือ | ติดต่อกับ | ตำบลศิลาทิพย์ |
ทิศใต้ | ติดต่อกับ | ตำบลชัยนารายณ์ |
ทิศตะวันออก | ติดต่อกับ | ตำบลนิคมลำนารายณ์ |
ทิศตะวันตก | ติดต่อกับ | ตำบลนิยมชัย อำเภอสระโบสถ์ |

ข้อมูลตำบลบ้านใหม่สามัคคี
ตำบลบ้านใหม่สามัคคี เดิมเป็นตำบลศิลาทิพย์ อำเภอชัยบาดาลต่อมาได้แยกเป็นตำบล บ้านใหม่สามัคคีเมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยมีนายบุญช่วย แสนแสง เป็นกำนันคนแรก และกำนันคนปัจจุบันเป็นคนที่ 5 ชื่อ นายประเสริฐ ภู่ระยับ หมู่ที่ 5 บ้านหนองสองตอน ราษฎรของตำบลบ้านใหม่สามัคคี ส่วนมากอพยพมาจากที่อื่น
หมู่ที่ 1 บ้านใหม่สามัคคี
บ้านใหม่สามัคคี หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่สามัคคี อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2493 ได้มีการย้ายที่อยู่ของชุมชนกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของนายเคน คลอแก้ว ได้ผ่านมาพบที่ซึ่งเป็นที่ของหมู่บ้านในปัจจุบัน ซึ่งมีลำคลองไหลผ่าน เป็นพื้นที่ราบลุ่มสามารถปลูกข้าวได้ และได้ถากถางพื้นที่ออกเป็นวงกว้างเพื่อทำการเกษตรและจับจองที่ดินทำกิน ในเวลาต่อมาได้มีผู้เข้ามาอยู่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่มาอยู่ก่อนต้องการมีเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นจึงได้มีการเช่าหรือซื้อที่ดินทำกิน เพื่อจะมีเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น ต่อมาได้มีการตั้งชื่อหมู่บ้านเนื่องจากประชากรในหมู่บ้านมาจากหลายพื้นที่ทั้งภาคอีสานและภาคกลาง การพูดสำเนียงก็ไม่เหมือนกัน ประเพณีก็ไม่เหมือนกันแต่ก็อยู่กันด้วยความสงบ เนื่องจากทุกคนรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านใหม่สามัคคี’’
หมู่ที่ 2 บ้านโป่งสามหัว
หมู่บ้านโป่งสามหัว หมู่ 2 ตำบลบ้านใหม่สามัคคี อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ก่อนจะตั้งเป็นหมู่บ้านโป่งสามหัวนั้น พื้นที่เป็นป่า บริเวณโดยรอบของหมู่บ้านมีแต่ภูเขาและป่า มีพื้นที่เป็นดินโป่งซึ่งเป็นดินที่มีแร่ธาตุมาก สัตว์ป่าชอบลงมากินดินแถวนั้น เพราะมีบริเวณที่เป็นดินโป่งมากมายจนกระทั่งมีผู้คนเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยเห็นว่ามีสัตว์ลงมากินดินโป่งมาก ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อหมู่บ้านขึ้น โดยตั้งชื่อว่า “บ้านโป่งสามหัว”
หมู่ที่ 4 บ้านซับหินขวาง
หมู่บ้านซับหินขวาง หมู่ 4 ตำบลบ้านใหม่สามัคคี อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เริ่มตั้งเมื่อปี 2500 โดยคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งหมู่บ้านได้อพยพมาจากบ้านชอนสารเดช และตำบลโพธิ์เก้าต้นเนื่องจากความยากจน จึงย้ายที่ทำกินใหม่และที่ดินแถวนี้ไม่ได้ซื้อที่มาของชื่อหมู่บ้านคือ เมื่อก่อนมาน้ำซับไหลผ่านและ มีหินขวางลำธารอยู่ ชาวบ้านได้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำนี้โดยน้ำ จะมีใช้ตลอดทั้งปีเนื่องจากเป็นน้ำซับ จึงได้ตั้งชื่อว่า “หมู่บ้านซับหินขวาง’’
หมู่ที่ 5 บ้านหนองสองตอน หมูที่ 3 บ้านซับม่วง และหมู่ที่ 6 บ้านโศกดินแดง
เป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นใหม่ ข้อมูลต่างๆยังไม่มากพอว่าความเป็นมาอย่างไร แต่เท่าที่ผู้วิจัยได้พูดคุยซักถามจากผู้นำชุมชนคือที่มาของหมู่บ้านจะตั้งชื่อตามสภาพภูมิศาสตร์เช่น มีหนองน้ำแบ่งระหว่างหมู่บ้าน จึงชื่อหนองสองตอน มีหนองสองตอนเหนือและหนองสองตอนใต้หมู่บ้านซับม่วง ก็จะมีดินที่ซับน้ำไว้ได้ เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำซับใต้ดินตลอดทั้งปีเหมาะกับการปลูกพืชไร่ หมู่บ้านโศกดินแดง จะตั้งชื่อตามลักษณะสีของดิน เพราะดินที่นี้จะเป็นดินแดงเป็นส่วนใหญ่ เหมาะแก่ปลูกมันสำปะหลัง